มาตรฐาน:การพัฒนาหลักสูตร การประกันคุณภาพ และการบริหารจัดการ

1) มาตรฐานหลักสูตร การดำเนินงานและการประกันคุณภาพ CWIE ช่วงแรก (พ.ศ. 2536-2545)

การจัด CWIE ในชื่อของสหกิจศึกษา (Cooperative Education) เกิดขึ้นในประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในปี พ.ศ. 2536 เป็นหลักสูตรเสริมการจัดหลักสูตรระดับปริญญาตรี 4 ปี สำหรับวิชาการและวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีการเกษตร และเทคโนโลยีสังคม จัดโดยอาศัยเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษาที่มีผลบังคับใช้ในระยะนั้น ประกอบด้วย

1) ปรัชญาและวัตถุประสงค์ของสหกิจศึกษาเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการผลิตบัณฑิตให้มีความพร้อมที่จะปฏิบัติงาน ได้ทันที เมื่อสำเร็จการศึกษาและร่วมพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง เป็นบัณฑิตที่รู้ชัดปฏิบัติได้ ในลักษณะของ Ready Graduate ซึ่งมีทั้งความพร้อมในการทำงาน (Employability) และ การพัฒนาวิชาชีพ (Career Development) อย่างต่อเนื่อง

2) ระบบการจัดการศึกษาใช้ระบบไตรภาค โดยแต่ละปีการศึกษาแบ่งออกเป็น 3 ภาคการศึกษา โดย 1 ภาคการศึกษามีระยะเวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 12 สัปดาห์ ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดหลักสูตรสหกิจศึกษาของหลักสูตรต่าง ๆ ไม่มีผลกระทบต่อเกณฑ์เดิมและจัดได้ตามวัตถุประสงค์ของสหกิจศึกษา

3) การคิดหน่วยกิตกำหนดให้การปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ ไม่น้อยกว่า 45 ชั่วโมง/ ภาคการศึกษา มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต

4) โครงสร้างหลักสูตรจัดให้หลักสูตรสหกิจศึกษาเป็นส่วนของหมวดวิชาเฉพาะหรือหมวดวิชาเลือกเสรี โดยมีการปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 16 สัปดาห์เต็มเวลา มีค่าเท่ากับ 8 หน่วยกิต (6 หน่วยกิตทวิภาค)

5) คณาจารย์และนักศึกษา กำหนดให้คณาจารย์ประจำของสาขาวิชาต่าง ๆ ทำหน้าที่คณาจารย์นิเทศ สหกิจศึกษาในสาขาวิชาที่กำหนดให้นักศึกษาปฏิบัติสหกิจศึกษา ส่วนนักศึกษาต้องศึกษาวิชาบังคับต่าง ๆ ในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปและหมวดวิชาเฉพาะครบหรือเกือบครบโดยมีคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่น้อยกว่า 2.0 จากระบบ 4.0

6) สถานประกอบการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำด้านความพร้อมของสถานประกอบการที่จะรับนักศึกษา ไปปฏิบัติสหกิจศึกษาในด้านต่าง ๆ อาทิ มีนโยบายในการสนับสนุนการดำเนินงานสหกิจศึกษา มีบุคลากรที่เกี่ยวข้องที่จะทำหน้าที่นิเทศหรือสอนงาน มีงบประมาณและทรัพยากรสนับสนุน มีกระบวนการเสนองานและการคัดเลือกนักศึกษา มีการเตรียมความพร้อมนักศึกษา มีการจัดประสบการณ์และงานที่เหมาะสม มีระบบและกระบวนการนิเทศสอนงานและการประเมินผล การปฏิบัติงาน เป็นต้น

2) มาตรฐานหลักสูตร การดำเนินงานและการประกันคุณภาพ CWIE ช่วงที่สอง (พ.ศ. 2546-ปัจจุบัน)

ในปีพ.ศ. 2545-2547 ทบวงมหาวิทยาลัยในช่วงนั้นได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนนักศึกษาสหกิจศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชนที่จัดสหกิจศึกษาตามรูปแบบของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นโครงการนำร่องเป็นเวลา 2 ปีงบประมาณ หลังจากนั้นได้จัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการนำร่อง ซึ่งมีสถาบันอุดมศึกษาประมาณ 60 แห่ง ทั้งของรัฐและเอกชนเข้าร่วมโครงการ พบว่า แม้จะได้ผลดีระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีปัญหาและอุปสรรคหลัก ในการดำเนินงานสหกิจศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาและสถานประกอบการ คือ บุคลากรที่เกี่ยวข้องยังขาดความรู้ความเข้าใจในหลักและวิธีการจัดสหกิจศึกษา ทำให้การดำเนินงานสหกิจศึกษา ขาดประสิทธิภาพและไม่บรรลุผลที่ดีเต็มตามวัตถุประสงค์

สมาคมสหกิจศึกษาไทย (Thai Association for Cooperative Education: TACE) ด้วยความสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จึงรับหน้าที่เข้าร่วมประสานและส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานการดำเนินงานสหกิจศึกษาระดับอุดมศึกษาและจัดหลักสูตรการศึกษาอบรมบุคลากรสหกิจศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาและสถานประกอบการ ร่วมกับเครือข่ายพัฒนา สหกิจศึกษาจวบจนปัจจุบัน

การจัดสหกิจศึกษาในช่วงเวลาดังกล่าวข้างต้น จัดตามมาตรฐานการดำเนินงาน สหกิจศึกษาขั้นต่ำในรูปแบบการจัดแยกระหว่างการเรียนรายวิชา ภาคทฤษฎีในสถาบันอุดมศึกษาและภาคปฏิบัติในสถานประกอบการ ซึ่งจัดให้ทำงานเป็นเวลา 16 สัปดาห์เต็มเวลา มีค่าเท่ากับ 8 หน่วยกิตไตรภาค (6 หน่วยกิตทวิภาค) รวมการเตรียมก่อนออกปฏิบัติสหกิจศึกษาเป็นเวลา 30 ชั่วโมงหรือ 1 หน่วยกิต รวม 9 หน่วยกิตไตรภาค ดังแผนภาพต่อไปนี้

เมื่อได้มีการปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษาในระยะต่อมาจนถึงฉบับ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันทำให้การจัดหลักสูตรระดับปริญญามีความยืดหยุ่น มากขึ้น ทั้งการขยายการจัด CWIE ยาวขึ้น และหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ตามมาตรฐานส่งเสริม โดยมีรูปแบบการจัดหลักสูตร CWIE เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้

1) แบบแยก (Separation)เป็นการเรียนภาคทฤษฎีที่สถาบันอุดมศึกษาจนครบ ตามกำหนด หลังจากนั้นจึงไปปฏิบัติงานในสถานประกอบการตามระยะเวลาที่กำหนด

2) แบบคู่ขนาน (Parallel)เป็นการเรียนภาคทฤษฎีในสถาบันอุดมศึกษาสลับกับ การไปปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการตลอดระยะการเรียนในหลักสูตรนั้น ๆ

3) แบบผสม (Mix)เป็นการเรียนภาคทฤษฎีในสถาบันอุดมศึกษาส่วนหนึ่ง และเรียนภาคทฤษฎีพร้อมปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการอีกส่วนหนึ่ง

อ้างอิง

เอกสารประกอบการอบรม.  “หลักสูตรคณาจารย์นิเทศสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการทำงาน รุ่นที่11”.  สมาคมสหกิจศึกษาไทย. 9-11 พ.ย. 2565.